Skip to content

เทคนิคการแต่งเพลงแร็พ 5 ขั้นตอน

เวลาคุณฟังเพลง Hip-Hop ที่ชอบ เคยสงสัยไหมว่าเบื้องหลังการแต่งเพลงนั้น มีขั้นตอนอะไรบ้าง? ซึ่งในบทความนี้ผมก็จะมาอธิบาย “5 ขั้นตอนหลักๆในการแต่งเพลงแร็พ” และมาแชร์เทคนิคที่น่าสนใจ เพื่อให้คุณได้เห็นภาพรวมว่า การแต่งแร็พสักเพลงนึง ควรเริ่มจากขั้นตอนไหน ในยุคที่เทคโนโลยีเอื้อต่อศิลปิน ในการเริ่มแต่งเพลงของตัวเอง

การแต่งเพลง ถือเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง ของศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักใช้ถ้อยคำ มาเรียงร้อย ให้เกิดความไพเราะ และเล่นกับเรื่องราวต่างๆให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์”

การฟังเพลง ก็ถือว่าเป็นการเสพผลงาน เสพศิลปะทางอารมณ์แขนงหนึ่งเช่นกัน เหมือนการฟังใครสักคนเล่าเรื่อง โดยที่มีทำนอง สร้างบรรยากาศให้กับเรื่องราวนั้นๆ”

ขั้นตอน & วิธีการแต่งเพลง

เข้าใจโครงสร้างเพลง

หาแรงบันดาลใจ

เขียนเนื้อเพลง

เรียบเรียง & ใส่ทำนองใน Rhyme

ดูภาพรวม ตรวจสอบคำ

การแต่งแร็พเริ่มได้หลายวิธี

เริ่มจากเนื้อร้องหรือร่างไอเดีย อาจจะเขียนเป็นบทความที่อยากเล่าขึ้นมา หรือเขียนเป็นกลอน แล้วค่อยฮัมทำนองใส่เข้าไปทีหลัง วิธีนี้เหมาะกับคนที่ไม่มีพื้นฐานทางดนตรีเลย หรือเล่นดนตรีไม่เป็น

เริ่มด้วยการฮัมทำนองหรือเมโลดี้ เป็นวิธีที่ฮัมทำนองมาเพียวๆ จากจินตนาการ บางคนได้ยินเมโลดี้นี้ในหัว ตอนขับรถ ตอนหลับ ตอนอาบน้ำ แล้วก็รีบฮัมแล้วอัดเก็บไว้ จากนั้นค่อยมาใส่เนื้อร้อง เป็นวิธีที่เหมาะกับคนที่คุ้นเคยกับดนตรีมากๆ

เริ่มจากสร้าง Beat ขึ้นมาก่อน การปั้นดนตรีกับจังหวะขึ้นมาก่อน จากนั้นก็ค่อยๆประกอบร่าง และฮัมทำนอง หรือใส่เนื้อร้องเข้าไปเพิ่ม


1. เข้าใจโครงสร้างเพลง

โครงสร้างเพลงจะช่วยให้คุณแต่งเพลงออกมา ส่งอารมณ์เพื่อ Hype ผู้ฟัง ไปให้ถึงอารมณ์ที่ต้องการจะสื่อสารออกมา และง่ายต่อการวางแผนการดำเนินเรื่อง

โครงสร้างเพลงมี 5 องค์ประกอบหลักๆครับ แต่ว่าเพลงที่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกองค์ประกอบก็ได้ แค่แต่งให้เนื้อหาและเมโลดี้ภายในเพลง สอดคล้องไปด้วยกันได้ ทำให้ผู้ฟังเข้าถึงอารมณ์ และสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารออกมาก็เพียงพอแล้วครับ

เพลงเกือบทุกเพลงจะมีโครงสร้างที่เป็นมาตรฐานคล้ายๆ กัน แต่เพื่อการเข้าใจในตัวเพลง ผู้แต่งจำเป็นต้องเข้าใจส่วนต่างๆ ต่อไปนี้ด้วย

INTRO

ท่อนนำของบทเพลง เริ่มต้นเปิดเรื่อง
อาจเป็นทำนอง (Melody) ที่สร้างขึ้นใหม่
หรือเป็นทำนองที่เป็นส่วนหนึ่งของเพลงอยู่แล้ว

VERSE

อาจเรียกว่า ‘ท่อน A’ เป็นท่อนหลัก มักมีไว้ดำเนินเรื่อง เท้าความให้รายละเอียด
ในเพลงๆ หนึ่งจะมีหลายเวิร์ส โดยท่อนนี้มักจะยาวกว่าท่อนคอรัสสองเท่า

PRE CHORUS

อาจเรียกว่า ‘ท่อน B’ มักมีไว้เชื่อมอารมณ์ ก่อนไปท่อนฮุค (PRE HOOK)
หรือสามารถพลิกผันเรื่องราว เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ก่อนเข้าคอรัสได้ในท่อนนี้

CHORUS

อาจเรียกว่า ‘ท่อน Hook’ มักเป็นท่อนที่ได้ยินบ่อยที่สุดในเพลง
เป็นท่อนสะเทือนอารมณ์ที่สุด หากเป็นหนังก็คือจุดพีค
และมักมีการเล่นซ้ำ ร้องซ้ำ เพื่อให้คนร้องตามได้
หรือ “ติดหู” นั่นเอง เป็นส่วนที่มีประเด็นหลักของเพลง

BRIDGE

เป็นท่อนที่มีหรือไม่มีก็ได้ เป็นตัวเชื่อมอารมณ์ระหว่างท่อน
ท่อนนี้มักจะมาต่อจากท่อนคอรัสที่สอง และเป็นท่อนที่แตกต่างจากท่อนอื่น เป็นท่อนสั้นๆ มีเนื้อร้องแค่หนึ่งหรือสองบรรทัด และบางครั้งก็คือท่อนเปลี่ยนคีย์ของเพลง


2. หาแรงบันดาลใจ

ก่อนที่จะเริ่มเขียนเพลงขึ้นมา สิ่งแรกที่ควรจะทำก็คือการหาไอเดียครับ
ไอเดียจะให้คุณเห็นภาพเพลงของคุณมากขึ้น ที่สำคัญคือต้องรวบรวมไอเดียที่อยากจะเล่าให้ได้เยอะๆ เป็นการกำหนดว่าเพลงสื่ออะไร หรือ วางสตอรี่เพลงว่าจะสื่อสารอย่างไร เพื่อให้ง่ายต่อการแต่ง Rhyme ในขั้นต่อๆไป

Inspiration

หาแรงบันดาลใจจากบทกลอน หากคุณยังไม่มีไอเดีย ให้คุณลองนำบทกลอนหรือหนังมาประยุกต์ใช้ จะมีไอเดียที่ยอดเยี่ยม แล้วลองนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อวัดคุณจะนำมาแต่งเป็นเพลงแร็พได้หรือเปล่า เพราะนี่จะช่วยพัฒนาทักษะของคุณ และสร้างการเริ่มต้นการเขียนเพลงที่ดีให้กับคุณได้

ดูเนื้อเพลงของศิลปินที่คุณชื่นชอบ แล้วคุณจะได้ความรู้มากมายจากการวิเคราะห์ ว่าอะไรทำให้เพลงนั้นเป็นเพลงที่ดี และดูว่าเพลงนั้นพูดเกี่ยวกับเรื่องอะไร เพลงถ่ายทอดออกมาอย่างไร ใช้คำคล้องจองแบบไหน จังหวะของเนื้อเพลงเป็นอย่างไร รวมถึงวิเคราะห์ในส่วนอื่นๆ ด้วย

ใคร ทำอะไร ที่ไหน กับใคร ?

โดยไอเดียต่างๆ ควรคำนึงถึงตัวละครเสมอ ตัวละครในเพลงนั้นเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่
อยู่ในอารมณ์ไหน กำลังเจอสถานการณ์แบบไหน และกำลังคิดอะไรอยู่ พอเราคำนึงถึงบรรยากาศและตัวละครในเพลง เราจะสามารถสื่อสารให้คนฟังเห็นภาพ และเข้าใจบรรยากาศของเพลงได้มากยิ่งขึ้น

ไอเดียเพลงของเราควรเริ่มมาจาก ‘ช่วงเวลา’ หรือ ‘เหตุการณ์’ ที่น่าประทับใจที่อยากเล่า


3. เขียนเนื้อเพลง

เมื่อเรามีไอเดียแล้ว รู้ว่าจะเขียนเพลงเกี่ยวกับอะไร พูดถึงอะไร ก็เข้าสู่ขั้นตอนการเขียน Rhyme ซึ่งการเขียน Rhyme หรือเนื้อร้องนั้น ก็สามารถฮัมจาก Melody ที่เราสร้างขึ้นมาเองได้ หรือจะเริ่มต้นเขียน Rhyme โดยการทำ Freewriting ก็ได้เช่นกันครับ

Freewriting

Freewriting” เป็นการเขียนสิ่งที่อยากเล่าอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกังวลไวยากรณ์
ให้คุณลองเขียนอะไรสักอย่าง ที่ไม่ต้องเป็นไปตามกฎหรือมาตรฐานที่ตั้งไว้
เป็นวิธีที่ดีในการเริ่มเขียน Rhyme เริ่มจากเขียนอะไรก็ได้ที่อยากเขียนลงไป ลองเขียนติดต่อกันเป็นเวลาสิบนาที และมาดูว่ามีแนวคิดหรือวลีไหน ที่โดนใจ เพื่อนำมาใช้ในเพลง
การทำแบบนี้ช่วยให้คุณรวบรวมไอเดียหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

ทุกอย่างที่เขียนต้องสัมพันธ์กัน หากคุณแต่งขึ้นมาหนึ่งประโยค ประโยคนั้นจะต้องนำไปสู่บางสิ่งบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกันในส่วนที่เหลือของเพลง


4. เรียบเรียง & ใส่ทำนองใน Rhyme

ขั้นตอนนี้จะเป็นการนำไอเดียและ Rhyme ที่คุณได้จากขั้นตอนก่อนหน้า มาเรียบเรียงให้เข้ากับเครื่องดนตรีต่างๆ หรือ Beat ซึ่งการปรับแต่ง Rhyme ให้เข้ากับทำนองเพลงที่คุณเขียน อาจมีบางคำถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือตัดออก เพื่อให้เข้ากับทำนองเสียงของคุณ

หากคุณเพิ่งเริ่มหัดเขียนเพลง คุณน่าจะลองเอา Rhyme ที่แต่งไว้ ไปใส่กับ Beat หรือทำนองเพลงของคนอื่น เพราะมันอาจทำให้คุณเห็นภาพเพลงของคุณมากขึ้น และมันอาจเข้ากันได้อย่างที่คุณไม่คาดคิด

อย่าลืมเว้นช่องว่างให้พักหายใจด้วยนะครับ


5. ดูภาพรวม ตรวจสอบคำ

ขั้นตอนนี้ต้อง คำนึงถึงความประทับใจ” ของเพลงที่คุณแต่งออกมา นี่คือข้อที่ยากที่สุดก็ว่าได้ ศิลปินต้องคิดให้ได้ว่า จะทำอย่างไรคนฟังถึงจะสนใจเพลงของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Rhyme ที่โดนใจ หรือเนื้อหาที่เข้ากับทำนอง เข้าจังหวะอย่างลงตัว

Recheck

อ่าน Rhyme ที่คุณเขียนไป ให้คุณลองอ่านไปทีละส่วนแล้วแก้ไข ให้ทั้งเพลงมันเชื่อมโยงกัน ลองคิดว่าคุณมาอยู่ตรงท่อนนี้ได้อย่างไร และดูว่าต้องหาคำคล้องจองใหม่หรือเปล่า มี Punch line เด็ดๆ โดนๆ หรือยัง จำไว้ว่า คนฟังจะจำได้แค่ส่วนที่เด่นที่สุดของเพลงเท่านั้น

ลองขอคำปรึกษาจากคนอื่นๆ ให้เขาได้ลองฟังเพลงของคุณ


“การเลือกแต่งแร็พโดย ‘เล่าจากเรื่องจริงของชีวิต’ มักจะมีความทรงจำที่สมบูรณ์ ความรู้สึกที่เอ่อล้น นั่นทำให้การเขียนแร็พในแต่ละครั้ง มีความหมายต่อเรา รวมไปถึงผู้ฟัง มากไปกว่าการเขียนงานสักชิ้นนึง… มันคือการเล่าเรื่องด้วยความรู้สึก และลงมือเขียนด้วยความคิด”

“การเขียนเพลงเป็นการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้สึก
และดนตรีก็ถูกสร้างมาเพื่อการนั้น


เทคนิคต่างๆ ผู้เขียนได้สะสมจากประสบการณ์ตรง ทั้งเสพผลงานเพลงและนำเทคนิค ที่เคยเล่าเรียนวิธีการแต่งเพลง จากอาจารย์นักแต่งเพลงโดยเฉพาะ มาแชร์กันในวันนี้

ถ้าใครมีความฝันที่อยากจะทำเพลง Rap หากนำเทคนิคเหล่านี้ ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาฝีมือ ก็สามารถทำให้คุณกลายเป็นศิลปินมืออาชีพได้ไม่ยาก เพราะการแต่งเพลงเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาพัฒนา ยิ่งคุณฝึกฝนมากเท่าไหร่ คุณก็จะทำได้ดีขึ้นเท่านั้น เทคนิคสำคัญคือฟังเพลงเยอะๆ หาศิลปินที่ชื่นชอบและลองเอามาเป็นแนวทางดูนะครับ